วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2557

รำวงมาตรฐาน

รำวงมาตรฐาน 




 รำวงมาตรฐาน ศิลปะแห่งการฟ้อนรำที่งดงาม พร้อมทั้งเป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความสนุกสนาน จากการฟ้อนรำกันเป็นคู่ ๆ เข้าจังหวะหญิง-ชาย เพลงที่เป็นที่รู้จักในรำวงมาตรฐานก็เช่นเพลงงามแสงเดือน เพลงรำมาซิมารำ ซึ่งเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงได้เรียนผ่านหูผ่านตาในวิชานาฏศิลป์กันมาบ้างแน่นอน และในวันนี้ กระปุกดอทคอม จะมาทบทวนความรู้ในเรื่องรำวงมาตรฐาน และร่วมช่วยกันอนุรักษ์ไว้เพื่อศิลปะการฟ้อนรำที่งดงามอ้อนช้อยนี้คงไว้ให้ลูกหลานของเราสืบไป

ประวัติความเป็นมาของรำวงมาตรฐาน

         "รำวงมาตรฐาน" เป็นการแสดงที่มีวิวัฒนาการมาจาก "รำโทน" (กรมศิลปากร, 2550 : 136-143)  เป็นการรำและการร้องของชาวบ้านซึ่งมีผู้รำทั้งชายและหญิง รำกันเป็นคู่ ๆ รอบ ๆ ครกตำข้าวที่วางคว่ำไว้ หรือไม่ก็รำกันเป็นวงกลม โดยมีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ลักษณะการรำและร้องเป็นไปตามความถนัด ไม่มีแบบแผนกำหนดไว้ คงเป็นการรำและร้องง่าย ๆ มุ่งเน้นที่ความสนุกสนานรื่นเริงเป็นสำคัญ เช่น เพลงช่อมาลี เพลงยวนยาเหล เพลงหล่อจริงนะดารา เพลงตามองตา เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด เป็นต้น ด้วยเหตุที่การรำชนิดนี้มีโทนเป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จึงเรียกการแสดงชุดนี้ว่า รำโทน 
         ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2487 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของการละเล่นรื่นเริงประจำชาติและเห็นว่าคนไทยนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ถ้าปรับปรุงการเล่นรำโทนให้เป็นระเบียบทั้งเพลงร้อง ลีลาท่ารำ และการแต่งกายจะทำให้การเล่นรำโทนเป็นที่น่านิยมมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรปรับปรุงรำโทนเสียใหม่ให้เป็นมาตรฐาน มีการแต่งเนื้อร้องทำนองเพลง และนำท่ารำจากเพลงแม่บทมากำหนดเป็นท่ารำเฉพาะ แต่ละเพลงอย่างเป็นแบบแผน

         ทั้งนี้ การรำวงมาตรฐานประกอบด้วยเพลงทั้งหมด 10 เพลง โดย กรมศิลปากรแต่งเนื้อร้องจำนวน 4 เพลง ดังต่อไปนี้
1. เพลงงามแสงเดือน (Ngam Sang Duan) 

          คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร) 

          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท     

          ความหมายเพลง : ยามที่แสงจันทร์ส่องมายังโลกทำให้โลกนี้ ดูสวยงาม ผู้คนที่มาเล่นรำวงยามที่แสงจันทร์ส่องก็มีความงดงามด้วย การรำวงนี้เพื่อให้มีความสนุกสนาน มีความสามัคคีกัน และละทิ้งความทุกข์ให้หมดสิ้นไป

เนื้อเพลง: 

        งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า         งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (ซ้ำ)
เราเล่นกันเพื่อสนุก                                เปลื้องทุกข์วายระกำ
ขอให้เล่นฟ้อนรำ                                  เพื่อสามัคคีเอย




2.  เพลงชาวไทย (Chaw Thai) 

          คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร) 

          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท 

          ความหมายเพลง : หน้าที่ที่ชาวไทยพึงมีต่อประเทศชาตินั้น เป็นสิ่งที่ทุกคนควรกระทำ อย่าได้ละเลยไปเสีย ในการที่เราได้มาเล่นรำวงกันอย่างสนุกสนาน ปราศจากทุกข์โศกทั้งปวงนี้ก็เพราะว่าประเทศไทยเรามีเอกราช ประชาชนมีเสรีในการคิดจะทำสิ่งใด ๆ ดังนั้นเราจึงควรช่วยกันเชิดชูชาติไทยให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป เพื่อความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นของไทยเราตลอดไป

เนื้อเพลง :


         ชาวไทยเจ้าเอ๋ย                       ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่
การที่เราได้เล่นสนุก                            เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้
เพราะชาติเราได้เสรี                             มีเอกราชสมบูรณ์
เราจึงควรช่วยชูชาติ                            ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ
เพื่อความสุขเพิ่มพูน                             ของชาวไทยเราเอย





3. เพลงรำซิมารำ (Ram ma si ma ram) 

          คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร)

          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท 

          ความหมายเพลง : ขอพวกเรามาเล่นรำวงกันให้สนุกสนานเถิดในยามว่างเช่นนี้จะได้คลายทุกข์ ถึงเวลางานเราก็จะทำงานกันจริง ๆ เพื่อจะได้ไม่ลำบาก และการรำก็จะรำอย่างมีระเบียบแบบแผน ตามวัฒนธรรมไทยของเราแล้วจะดูงดงามยิ่ง

เนื้อเพลง :

         รำมาซิมารำ                                  เริงระบำกันให้สนุก
ยามงานเราทำงานกันจริง ๆ                         ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญขุก
ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น                              ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์
ตามเยี่ยงอย่างตามยุค                               เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม
เล่นอะไรให้มีระเบียบ                                ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ
มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ                            มาเล่นระบำของไทยเราเอย







4.  เพลงคืนเดือนหงาย (Ken Dern Ngai)           คำร้อง : จมื่นมานิตย์นเรศ (นายเฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร (ประพันธ์ในนามกรมศิลปากร) 

          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท 

          ความหมายเพลง : เวลากลางคืน เป็นคืนเดือนหงาย มีลมพัดมาเย็นสบายใจ แต่ก็ยังไม่สบายใจเท่ากับการที่ได้ผูกมิตรกับผู้อื่น และที่ร่มเย็นไปทั่ว ทุกแห่งยิ่งกว่าน้ำฝนที่โปรยลงมา ก็คือการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นเอกราช มีธงชาติไทยเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ร่มเย็นทั่วไป

เนื้อเพลง :


        ยามกลางคืนเดือนหงาย                     เย็นพระพายโบกพริ้วปลิวมา
เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต                                  เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา
เย็นร่มธงไทยปกไปทั่วหล้า                         เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย




         โดย ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลย์สงครามแต่งเนื้อร้องเพิ่มอีก 6 เพลง ดังนี้


5.  เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ (Dong jan wan pen) 


          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง 

          ทำนอง : อาจารย์มนตรี ตราโมท 

          ความหมายเพลง : พระจันทร์เต็มดวงที่ลอยอยู่บนท้องฟ้านั้นช่างดูสวยงาม เพราะเป็นพระจันทร์ทรงกลด คือมีแสงเลื่อมกระจายออกรอบดวงจันทร์ทั้งดวง แต่ถึงจะงามอย่างไรก็ยังไม่เท่าความงามของดวงหน้าหญิงสาว ที่ดูผุดผ่องมีน้ำมีนวล อีกทั้งรูปร่างก็ดูสมส่วน กิริยาวาจาก็อ่อนหวานไพเราะ สมแล้วกับที่เปรียบว่าหญิงไทยนี้คือดอกไม้

เนื้อเพลง :
                             
         ดวงจันทร์วันเพ็ญ                         ลอยเด่นอยู่ในนภา
ทรงกลดสดสี                                       รัศมีทอแสงงามตา
แสงจันทร์อร่าม                                    ฉายงามส่องฟ้า
ไม่งามเท่าหน้า                                    นวลน้องยองใย
                                
         งามเอยแสงงาม                           งามจริงยอดหญิงชาติไทย
งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา                        จริตกิริยานิ่มนวลละไม
วาจากังวาน                                        อ่อนหวานจับใจ
รูปทรงสมส่วน                                      ยั่วยวนหทัย
สมเป็นดอกไม้                                      ขวัญใจชาติเอย




6. เพลง ดอกไม้ของชาติ (Dok mai kong chat)  

          คำร้อง :  ท่านผู้หญิงละเอียด  พิบูลสงคราม

          ทำนอง : อาจารย์มนตรี  ตราโมท

          ความหมายเพลง : ผู้หญิงไทยเปรียบเสมือนดอกไม้อันเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย การร่ายรำด้วยการแสดงออกอย่างอ่อนช้อย งดงามตามรูปแบบความเป็นไทยแสดงให้เห็นถึงความเจริญทางด้านวัฒนธรรมของคนไทย นอกจากผูหญิงจะดีเด่นทางด้านความงามแล้วยังมีความอดทน สามารถทำงานบ้าน ช่วยเหลืองานผู้ชายหรือแม้งานสำคัญ ๆ ระดับประเทศก็สามารถช่วยเหลือได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ผู้ชาย

เนื้อเพลง :


                                                            (สร้อย)

ขวัญใจดอกไม้ของชาติ                      งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ (ซ้ำ)
เอวองค์อ่อนงาม                               ตามแบบนาฏศิลป์
ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น                            เจริญวัฒนธรรม
                                                 
                                                            (สร้อย)

 งามทุกสิ่งสามารถ                               สร้างชาติช่วยชาย
 ดำเนินตามนโยบาย                             สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ
                                                             
                                                            (สร้อย)





 7.  เพลงหญิงไทยใจงาม (Ying Thai Jai Ngam) 

          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม 

          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

          ความหมายเพลง : ดวงจันทร์ที่ส่องแสงอยู่บนท้องฟ้ามีความงดงามมาก และยิ่งได้แสงอันระยิบระยับของดวงดาวด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ดวงจันทร์นั้นงามเด่นยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนกับดวงหน้าของหญิงสาวที่มีความงดงามอยู่แล้ว ถ้ามีคุณความดีด้วย ก็จะทำให้หญิงนั้นงามเป็นเลิศ ผู้หญิงไทยนี้เป็นขวัญใจของชาติ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาติ รูปร่างก็งดงาม จิตใจก็กล้าหาญ ดังที่มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ทั่วไป

เนื้อเพลง :
               
          เดือนพราว                               ดาวแวววาวระยับ
แสงดาวประดับ                                   ส่งให้เดือนงามเด่น
ดวงหน้า                                           โสภาเพียงเดือนเพ็ญ
คุณความดีที่เห็น                                  เสริมให้เด่นเลิศงาม
ขวัญใจ                                             หญิงไทยส่งศรีชาติ
รูปงามพิลาศ                                       ใจกล้ากาจเรืองนาม
เกียรติยศ                                           ก้องปรากฏทั่วคาม
หญิงไทยใจงาม                                   ยิ่งเดือนดาวพราวแพรว







8. เพลง ดวงจันทร์ขวัญฟ้า (Dong Jan Kwan Fa) 

          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง 

          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

          ความหมายเพลง : ในเวลาค่ำคืนท้องฟ้ามีดวงจันทร์ประจำอยู่ ในใจของชายก็มีหญิงอันเป็นสุดที่รักประจำอยู่เช่นกัน สิ่งที่เทิดทูนยกย่องไว้ก็คือ ชาติไทยที่เป็นเอกราช มีอิสระแก่ตนไม่ขึ้นกับใคร และสิ่งที่แนบสนิทอยู่ในใจของชายก็คือหญิงอันเป็นสุดที่รัก

เนื้อเพลง :
                          
           ดวงจันทร์ขวัญฟ้า                      ชื่นชีวาขวัญพี่
จันทร์ประจำราตรี                                  แต่ขวัญพี่ประจำใจ
ที่เทิดทูนคือชาติ                                  เอกราชอธิปไตย
ถนอมแนบสนิทใน                                 คือขวัญใจพี่เอย




9.  เพลงยอดชายใจหาญ (Yod Shy Jai Han) 

          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง

          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

          ความหมายเพลง : ขอผูกมิตรไมตรีกับชายผู้กล้าหาญ และจะขอมีส่วนในการทำประโยชน์ทำหน้าที่ของชาวไทย แม้จะลำบากยากแค้น ก็จะขอช่วยเหลือจนเต็มความสามารถ   

เนื้อเพลง :
                             
          โอ้ยอดชายใจหาญ                     ขอสมานไมตรี
น้องขอร่วมชีวี                                     กอร์ปกรณีกิจชาติ
แม้สุดยากลำเค็ญ                                 ไม่ขอเว้นเดินตาม
น้องจักสู้พยายาม                                 ทำเต็มความสามารถ




10. เพลงบูชานักรบ (Boo Cha Nak Rop) 

          คำร้อง : ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามทำนอง   

          ทำนอง : ครูเอื้อ สุนทรสนาน 

          ความหมายเพลง : น้องรักและบูชาพี่ เพราะมีความกล้าหาญ เป็นนักสู้ที่เก่งกล้าสามารถสมกับเป็นชายชาตินักรบที่มีความมานะอดทน แม้ว่าจะยากเย็นแสนเข็ญ พี่ก็ต่อสู้จนชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่ว นอกจากนี้ ยังขยันขันแข็งในงานทุกอย่าง อุตส่าห์สร้างหลักฐานให้มั่นคง และพี่ยังมีความรักในชาติบ้านเมืองยิ่งกว่าชีวิต ยอมสละได้แม้ชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อให้ชาติไทยคงอยู่คู่โลกต่อไป

เนื้อเพลง :

          น้องรักรักบูชาพี่                       ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ
เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ                              สมศักดิ์ชาตินักรบ
น้องรักรักบูชาพี่                                 ที่มานะที่มานะอดทน
หนักแสนหนักพี่ผจญ                            เกียรติพี่ขจรจบ
น้องรักรักบูชาพี่                                  ที่ขยันที่ขยันกิจการ
บากบั่นสร้างหลักฐาน                           ทำทุกด้านทำทุกด้านครันครบ
น้องรักรักบูชาพี่                                  ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต
เลือดเนื้อพี่พลีอุทิศ                               ชาติยงอยู่ยงอยู่คู่พิภพ




          ท่ารําวงมาตรฐาน ที่กำหนดไว้เป็นแบบแผนทั้ง 10 เพลง ดังนี้

เพลง  ท่ารำชายท่ารำหญิง 
 เพลงงามแสงเดือน  ท่าสอดสร้อยมาลา  ท่าสอดสร้อยมาลา 
 เพลงชาวไทย    ท่าชักแป้งผัดหน้า     ท่าชักแป้งผัดหน้า  
 เพลงรำมาซิมารำ  ท่ารำส่าย    ท่ารำส่าย  
 เพลงคืนเดือนหงาย   ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง   ท่าสอดสร้อยมาลาแปลง
 เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ   ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่
 เพลงดอกไม้ของชาติ  ท่ารำยั่ว  ท่ารำยั่ว 
 เพลงหญิงไทยใจงาม ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง  ท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง
 เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า   ท่าช้างประสานงา ชายท่าจันทร์ทรงกลด  ท่าช้างประสานงา ชายท่าจันทร์ทรงกลด
 เพลงยอดชายใจหาญ   ท่าจ่อเพลิงกาล     ท่าชะนีร่ายไม้
 เพลงบูชานักรบ  ท่าจันทร์ทรงกลด และท่าขอแก้ว  ท่าขัดจางนาง และท่าล่อแก้ว
               
          ทั้งนี้ ผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำประกอบเพลงรำวงทั้ง 10 เพลงนั้นคือ คณะอาจารย์ด้านนาฏศิลป์ของกรมศิลปากรได้ช่วยกันคิดประดิษฐ์ท่ารำให้งดงามถูกต้องตามหลักนาฏศิลป์กำหนดให้เป็นแบบมาตรฐาน ผู้คิดประดิษฐ์ท่ารำของรำวงมาตรฐาน คือ หม่อมต่วน (นางศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก) ครูมัลลี คงประภัศร์ ครูลมุล ยมะคุปต์ และครูผัน โมรากุล ต่อมาได้มีการนำรำวงนี้ไปสลับกับวงลีลาศ ทำให้ชาวต่างประเทศรู้จัก รำวง เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้เล่นกันแพร่หลาย และมีแบบแผนอันเดียวกัน กรมศิลปากรจึงเรียกว่า"รำวงมาตรฐาน" 

รูปแบบและลักษณะการแสดง


          รำวงมาตรฐาน  เป็นการรำหมู่ประกอบด้วยผู้แสดง 8 คน ท่ารำประดิษฐ์ขึ้นจากท่ารำมาตรฐานในเพลงแม่บท ความสวยงามของการรำ อยู่ที่กระบวนท่ารำที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละเพลงและเครื่องแต่งกายไทยในสมัยต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการแสดงในลักษณะการแปรแถวเป็นวงกลม การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ ดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 : 
ผู้แสดงชายและหญิง  เดินออกมาเป็นแถวตรง 2 แถว หันหน้าเข้าหากัน  ต่างฝ่ายทำความเคารพด้วยการไหว้ 

          ขั้นตอนที่ 2 : รำแปรแถวเป็นวงกลมตามทำนองเพลงและรำตามบทร้อง  รวม 10 เพลง โดยเปลี่ยนท่ารำไปตามเพลงต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เพลงงามแสงเดือน เพลงชาวไทย เพลงรำซิมารำ เพลงคืนเดือนหงาย เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ เพลงดอกไม้ของชาติ เพลงหญิงไทยใจงาม เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า เพลงยอดชายใจหาญ และเพลงบูชานักรบ 

          ขั้นตอนที่ 3 : เมื่อรำจบบทร้องในเพลงที่ 10 ผู้แสดงรำเข้าเวทีทีละคู่ ตามทำนองเพลงจนจบ

การแต่งกาย


           มีการกำหนดการแต่งกายของผู้แสดง ให้มีระเบียบด้วยการใช้ชุดไทย และชุดสากลนิยม โดยแต่งเป็นคู่ ๆ รับกันทั้งชายและหญิง ซึ่งสามารถแต่งได้ 4 แบบ  คือ
แบบที่ 1  แบบชาวบ้าน

          ชาย : นุ่งผ้าโจงกระเบน  สวมเสื้อคอพวงมาลัย เอวคาดผ้าห้อยชายด้านหน้า

          หญิง : นุ่งโจงกระเบน  ห่มผ้าสไบอัดจีบ ปล่อยผม  ประดับดอกไม้ที่ผมด้านซ้าย คาดเข็มขัดใส่เครื่องประดับ

แบบที่ 2  แบบรัชกาลที่ 5


          ชาย : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน  ใส่ถุงเท้ารองเท้า

          หญิง : นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อลูกไม้ สไบพาดบ่าผูกเป็นโบว์ ทิ้งชายไว้ข้างลำตัวด้านซ้าย ใส่เครื่องประดับมุก

แบบที่ 3  แบบสากลนิยม

          ชาย : นุ่งกางเกง สวมสูท ผูกเนคไท

          หญิง : นุ่งกระโปรงป้ายข้าง ยาวกรอมเท้า ใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก

แบบที่  4  แบบราตรีสโมสร 

          ชาย : นุ่งกางเกง สวมเสื้อคอพระราชทาน ผ้าคาดเอวห้อยชายด้านหน้า

          หญิง : นุ่งโปรงยาวจีบหน้านาง  ใส่เสื้อจับเดฟ ชายผ้าห้อยจากบ่าลงไปทางด้านล่าง เปิดไหล่ขวา ศีรษะทำผมเกล้าเป็นมวยสูง ใส่เกี้ยว และเครื่องประดับ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
gotoknow.org 
thaidance11.blogspot.com 
thaigoodview.com